< Back to insights hub

Article

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5 GW ในรูปแบบ FiT ของประเทศไทย: 2565 – 257312 October 2022

คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงานแห่งประเทศไทย (กกพ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ได้ออกระเบียบ¹ กำหนดหลักเกณฑ์มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff หรือ FiT) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนกับการไฟฟ้า² ถึงปี พ.ศ. 2573

"สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวม 5,203 เมกะวัตต์ (MW) จะถูกจัดสรรในโครงการพลังงานหมุนเวียน 4 ประเภท"

ปริมาณการผลิตรวมของโครงการ

สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวม 5,203 เมกะวัตต์ (MW) จะถูกจัดสรรในโครงการพลังงานหมุนเวียน 4 ประเภท ดังนี้

ตารางที่ 1 ปริมาณการผลิตรวม (MW) ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามแต่ละประเภทโครงการ

เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าของโครงการ

กกพ. สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าที่ประกาศใช้อ้างอิงตามกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการ

2567256825692570257125722573
ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)7575757040
พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน100100100100200200200
พลังงานลม250250250250250250
พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน190290258440490310390

ตารางที่ 2 เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า (MW) ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามปีของกำหนดวัน SCOD ในแต่ละประเภทพลังงานหมุนเวียนของโครงการ

ผู้ผลิตไฟรายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟขนาดเล็กมาก (VSPP) 10 เมกะวัตต์ ถึง 90 เมกะวัตต์

"สัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) รอบใหม่นี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดโอกาสหนึ่งสำหรับบริษัทประกอบกิจการพลังงานในการเข้าสู่กลุ่มพลังงานหมุนเวียน"

ผู้ผลิตไฟขนาดเล็กมาก (VSPP) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟรายเล็ก (SPP) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์

โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานเปิดรับเฉพาะจากผู้ผลิตไฟรายเล็ก (SPP) เท่านั้น ในขณะที่โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ จะเปิดรับทั้งจากผู้ผลิตไฟขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟรายเล็ก (SPP)

อัตรารับซื้อไฟฟ้า (Feed-in tariffs หรือ FiT)

อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ที่ได้รับการเสนอเป็นไปดังนี้³ ทั้งนี้ สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) จะได้รับอัตรา FiT Premium เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

FiT (บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)2.0724
พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน2.1679
พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน2.8331
พลังงานลม3.1014

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบบังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Partial-Firm)

สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับโครงการทั้งหมด นอกเหนือจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จะอยู่ในรูปแบบสัญญา “Non-Firm” ซึ่งหมายความว่าผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะได้รับการจ่ายเงินเท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ตามปริมาณการผลิต (MW) ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และไม่มีค่าปรับ หากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำกว่าปริมาณการผลิตตามสัญญา

สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จะอยู่ในรูปแบบสัญญา “Partial-Firm” โดยโครงการต้องสามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณดังต่อไปนี้

  1. 9.00 – 16.00 น. ร้อยละ 100 ของปริมาณพลังงานไฟฟ้า (MW) ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
    (PPA)
  1. 18.01 – 6.00 น. ร้อยละ 60 ของปริมาณพลังงานไฟฟ้า (MW) ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)
    เป็นเวลา 2 ชั่วโมง (หรือมากกว่านั้นตามที่ผู้รับซื้อกำหนด)
  1. ช่วงเวลาอื่น ไม่กำหนดปริมาณขั้นต่ำ และผู้รับซื้อจะรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดในปริมาณไม่เกินร้อยละ
    100 ของปริมาณพลังงานไฟฟ้า (MW) ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)

< Back to insights hub

"ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องอาศัยความเข้าใจในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการอนุญาตสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน"

คุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า

ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และกรณีมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ ต้องถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 ของหุ้นทั้งหมด ผู้ถือหุ้นและกรรมการจำนวนอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง รวมถึงกรรมการผู้มีอำนาจในการลงชื่อผูกพันนิติบุคคลต้องมีสัญชาติไทย บริษัทจะได้รับการยกเว้นคุณสมบัติเรื่องผู้ถือหุ้นต่างชาติและกรรมการในกรณีที่บริษัทมีสิทธิตามหมวด 3 และหมวด 4 ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดโดยเฉพาะเจาะจง (Specific Commitment Mode 3 และ Mode 4) หรือได้รับยกเว้นตามกฎหมายอื่น แม้ว่าในทางปฏิบัติ การได้รับการยกเว้นดังกล่าวค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ข้อกำหนดด้านทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ของปริมาณไฟฟ้าที่กำหนดโดยสัญญารับซื้อไฟฟ้าในปัจจุบัน ทำให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 50 เมกะวัตต์ จะต้องมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท (ประมาณ 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งทำให้บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำไม่สามารถยื่นสมัครได้ แม้ว่าบริษัทตามกฎหมายไทยจะสามารถจัดตั้งขึ้นได้โดยมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเพียงร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด แต่ข้อกำหนดสำหรับผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่จะต้องวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า มูลค่า 1,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ของปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย ทำให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 50 เมกะวัตต์ ต้องมีเงินสดหรือทุนที่มีอยู่อย่างน้อย 50 ล้านบาท (ประมาณ 1.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องรับการตรวจสอบจุดเชื่อมระบบไฟฟ้า โดยยื่นตรวจสอบกับการไฟฟ้าภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 และจะต้องได้รับการยืนยันผลว่าระบบไฟฟ้ามีศักยภาพที่จะรองรับปริมาณพลังไฟฟ้าที่ผลิตโดยโครงการตามที่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเสนอขาย โดยการไฟฟ้าจะแจ้งผลการตรวจสอบภายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565

สัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) รอบใหม่นี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดโอกาสหนึ่งสำหรับบริษัทประกอบกิจการพลังงานในการเข้าสู่กลุ่มพลังงานหมุนเวียน รวมถึงบริษัทที่ประกอบกิจการพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้วนั้น ก็ถือเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพียงแค่บริษัทสามารถแสดงให้เห็นว่าจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ามีความเหมาะสม ก็สามารถที่จะบรรลุคุณสมบัติด้าน “ความพร้อมทางเทคนิค” ของโครงการได้

"เปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565"

ความพร้อมทางเทคนิคของโครงการ

โครงการที่สมัครจะได้รับการประเมินความพร้อมทางเทคนิค 5 ด้านต่อไปนี้ โดยจะมีการให้คะแนนในแต่ละด้าน และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ จึงจะมีสิทธิในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยในการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าในรอบนี้ มีเกณฑ์รายละเอียดมากกว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในรอบก่อน ๆ

  1. พื้นที่โครงการ
    1.1. เป็นเจ้าของ หรือมีสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่โครงการจะดำเนินการพัฒนา (รวมถึงกรณีได้มาหรือเช่าที่ดิน)
    1.2. ที่ดินที่ตั้งโครงการต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
    1.3. กรณีที่โครงการตั้งอยู่บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิมากกว่าหนึ่งแปลง ต้องจัดทำแผนผังรวมรายละเอียดแปลงที่ดิน
  2. ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค
    2.1. มีแผนผังโรงไฟฟ้า แสดงตำแหน่งระบบผลิตไฟฟ้า อาคารควบคุมการผลิต และระบบบำบัดมลพิษ
    2.2. มีแผนภูมิของระบบไฟฟ้า
    2.3. มีขั้นตอนกระบวนการผลิตไฟฟ้า แสดงแผนผังกระบวนการผลิตไฟฟ้า ระบบบำบัดมลพิษ และการจัดการของเสีย
    2.4. มีประสบการณ์ในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า หรือบริษัทในเครือในธุรกิจผลิตไฟฟ้า
  3. ศักยภาพด้านพลังงาน
    3.1. มีแหล่งเชื้อเพลิงที่เพียงพอสำหรับโครงการก๊าซชีวภาพ หรือทรัพยากรลมและแสงอาทิตย์สำหรับโครงการอื่น ๆ
  4. การเงิน
    4.1. มีเอกสารแสดงงบประมาณการมูลค่าโครงการ
    4.2. มีหนังสือสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์
    4.3. มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ตามปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย ครอบคลุมทุกโครงการที่ยื่นในนามนิติบุคคลเดียวกัน
  5. แผน
    แผนการดำเนินงาน ระบุกรอบระยะเวลาและขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาโครงการ
    5.1. การจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม
    5.2. การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย
    5.3. การขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ
    5.4. การจัดหาแหล่งเงินทุน
    5.5. การจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์
    5.6. การก่อสร้างและการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

"เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นขั้นตอนการสมัครอาจเป็นหลายเดือนก่อน แต่ “ตอนนี้” ก็ไม่สายเกินไป"

ในการที่จะบรรลุคุณสมบัติด้านความพร้อมทางเทคนิคนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลทางเทคนิคจำนวนมาก และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องอาศัยความเข้าใจในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการอนุญาตสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน

หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก

เนื่องด้วยประเทศไทยมีที่ดินจำนวนมากที่มีแสงแดงส่องถึง ส่งผลให้แนวโน้มการยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อาจเกินกรอบเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปี รวมถึงแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเรื่องจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการคัดเลือกจะช่วยป้องกันไม่ให้พลังงานแสงอาทิตย์จำกัดเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้

กรณีมีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวนหลายราย ณ จุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเดียวกัน แต่เนื่องด้วยบริเวณดังกล่าวมีข้อจำกัดในการรองรับด้านปริมาณไฟฟ้า การรับซื้อจะเรียงลำดับตามประเภทพลังงานหมุนเวียน ดังต่อไปนี้

  1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)
  2. พลังงานลม
  3. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน
  4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน

กรอบระยะเวลาการสมัคร

เปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 12.00 น. ผ่านระบบ RE Proposal บนเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กกพ. (www.erc.or.th) และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้า พร้อมกับหลักฐานการวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ภายใน 3 วันทำการ นับถัดจากวันที่ยืนยันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าผ่านระบบ RE Proposal แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 12.00 น.

รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจะประกาศภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 และผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคจะประกาศภายในวันที่ 18 มกราคม 2566 ตามลำดับ สำหรับโครงการที่ได้รับการคัดเลือก สำนักงาน กกพ. จะประกาศภายในวันที่ 15 มีนาคม 2566

เนื่องจากกการสมัครจะต้องใช้ข้อมูลทางเทคนิคจำนวนมากเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ความพร้อมทางด้านเทคนิค เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นขั้นตอนการสมัครอาจเป็นหลายเดือนก่อน แต่ “ตอนนี้” ก็ไม่สายเกินไป

[1] ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565
[2] การไฟฟ้า หมายความว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
[3] มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565

< Back to insights hub